วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

สถาบันประชาคมจังหวัดจับมือเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ดึงเยาวชนร่วมรณรงค์ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 มกราคม 2554 ที่ห้องจามจุรี โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน จังหวัดภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเยาวชน ในการรณรงค์ ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ โดยมีนายสุพจน์ สงวนกิตติพันธ์ ประธานสถาบันประชาคมภูเก็ต เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดภูเก็ต และตัวแทนนักเรียนชั้น ป.1-ป.6 เข้าร่วม

นายสุพจน์ กล่าวว่า “โครงการรณรงค์หยุดเหล้าเข้าษา (พรรษา) พาลูกพาหลานไปวัด จังหวัดภูเก็ต” จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างจิตสำนึกแก่เยาวชนให้เห็นว่าการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อชีวิต สุขภาพ และสังคม และเกิดการกระตุ้นเตือนให้เพื่อน ๆ และคนในครอบครัวได้เห็นโทษของการดื่ม โดยโครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่สถาบันประชาคมภูเก็ต เครือข่ายองค์กรงดเหล้าจังหวัดภูเก็ต และเครือข่ายทั่วประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ด้วยเพราะอันตรายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ซึ่งทั่วโลกต่างประจักษ์แล้วว่าก่อให้เกิดความเสียหายทั้งทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในด้านปัญหาด้านสุขภาพ พบว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดโรคต่าง ๆรวมแล้วมากกว่า 60 โรค จนองค์การอนามัยโลก (World Health Organization:WHO) ประมาณการว่ามีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์แล้วกว่า 76.3 ล้านคนทั่วโลก ทั้งนี้ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์เสียชีวิต 1.8 ล้านคนต่อปี หรือราวชั่วโมงละกว่า 2,100 คน ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่ได้นับตัวเลขผลกระทบที่เกิดจากการเมาแล้วขับ

ในด้านความสูญเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอันเนื่องมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ประเทศไทยต้องเสียงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากแอลกอฮอล์มากถึง 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังส่งผลให้เกิดปัญหาและผลกระทบทางด้านสังคมตามมาอีกจำนวนมาก ทั้งปัญหาอุบัติเหตุจราจร (เมาแล้วขับ) ปัญหาการทะเลาะวิวาทและการทำร้ายร่างกายผู้อื่น ปัญหาการฆ่าตัวตาย ปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดจากการขาดสติของแรงงานในการใช้เครื่องจักรกล เป็นต้น ซึ่งมูลค่าความเสียหายในกลุ่มนี้ก็ไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท เช่นกัน ในขณะที่สถิติการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยถูกจัดลำดับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการบริโภคสุรามากเป็นอันดับ 5 ของโลกและมีแนวโน้มว่าในอนาคตจะมีอัตราการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็ก เยาวชน และสตรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งข้อมูลทางสถิติระบุว่ากลุ่มเยาวชนช่วงอายุ 15-19 ปี ดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์มากกว่า 50 %

ข้อมูลจาก...ส.ปชส.ภูเก็ต

ไม่มีความคิดเห็น: