วันอังคารที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2554

“ภูเก็ตไข่มุก” ลงทุนอีก 10 ล้านขยายโชว์รูม-ระบบตรวจสอบคุณภาพ

“ภูเก็ตไข่มุก” ทุ่มเงินลงทุนอีก 10 ล้านบาท ขยายโชว์รูมรองรับความสะดวกของลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติ พร้อมระบบตรวจสอบคุณภาพของหอยมุกตั้งแต่การเพาะลี้ยงไปจนถึงการเป็นเครื่องประดับ

นายอมร อินทรเจริญ ประธานกรรมการ บริษัท ภูเก็ตไข่มุก จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจมุกครบวงจรตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยง การผลิต และการจำหน่ายมุกครบวงจรรายแรกในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2554 บริษัทฯ มีโครงการที่จะขยายการลงทุนให้ครอบคลุมทั้งระบบการตรวจสอบคุณภาพและขยายพื้นที่โชว์รูมจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มอีกเท่าตัว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและรองรับการให้บริการแก่ลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากโชว์นรูมที่มีอยู่ในขณะนี้อยู่ในสภาพที่แออัด และต้องการที่จะเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าที่เข้ามาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้มีโอกาสสัมผัสกับกระบวนการผลิต ตั้งแต่การออกแบบ การขึ้นตัวเรือน จนถึงสำเร็จรูป รวมทั้งรู้จักมุกภูเก็ตมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีห้องประชุมสัมมนาสำหรับรองรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตมุกตั้งแต่เริ่มต้นจนสำเร็จเป็นตัวเรือนำออกจำหน่าย

ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าของภูเก็ตไข่มุกมีหลากหลายมากขึ้น ทั้งในส่วนของคนไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งเอเชียและยุโรป โดยแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ออกมานั้นจึงมีความหลากหลาย เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย ประกอบกับการทำตลาดเฉพาะกลุ่มซึ่งจะทำให้ตลาดเกิดความหลากหลายมากขึ้นไม่กระจุกตัวกับตลาดใดตลาดหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแบบมงกุฎโดยใช้มุกเป็นส่วนประกอบสำหรับผู้ชนะเลิศการประกวดนางสาวไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ เชื่อว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการทำตลาด

นายอมรกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกำลังการผลิตลดลงเนื่องมาจากวัตถุดิบลดลงอันเป็นผลมาจากอัตราการรอดชีวิตของหอยมุกลดลง อันเป็นผลมาจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ประกอบกับปัญหาคุณภาพน้ำทะเลบริเวณที่ตั้งของฟาร์มเพาะเลี้ยง ซึ่งในจำนวน 100 % มีอัตราการรอดเพียง 30%

การแก้ปัญหาดังกล่าวสามารถทำได้โดยการสร้างโรงเรือนหรือฟาร์มเพาะเลี้ยงแบบควบคุม แต่จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการค่อนข้างสูง กับการเปลี่ยนพื้นที่ในการเพาะเลี้ยงไปอยู่ในทะเลลึกเพื่อลดความผันผวนของอุณหภูมิน้ำทะเล ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงต้องอาศัยธรรมชาติเป็นหลัก แม้ว่าอัตรารอดจะลดน้อยลง ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต เนื่องจากยังมีสต๊อกซึ่งสามารถนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ได้อีกประมาณ 3 ปี นับจากปี 2554 แต่หากภายใน 2 ปีนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ก็จะเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการทดลองเพื่อเพิ่มสายพันธุ์ให้มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ยังไม่สำเร็จ

ข้อมูลจาก...ผู้จัดการ ออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น: